พูดถึงแฟชั่นคุณนึกถึงอะไร? รันเวย์ นายแบบหน้าคม แบรนด์หรู หรือบางสิ่งบางอย่างที่ดูไกลตัวเราออกไป? แต่ถ้าเราบอกว่าแฟชั่นเกี่ยวกับโลกใบนี้ทั้งใบ ตั้งแต่ปัญหาขยะล้นโลกที่เรากำลังตื่นตัว เพราะขยะเสื้อผ้านั้นมีปริมาณมหาศาลมากกว่าที่เราคิด ไปจนถึงปัญหาสิทธิแรงงาน เพราะเบื้องหลังเสื้อผ้าที่เราใส่อยู่ทุกตัวมีใครบางคนในโรงงานที่ผลิตมันอยู่ หรือปัญหาการบริโภคแบบสุดขีดคลั่ง ที่เราอาจไม่รู้ตัวว่าการซื้อเสื้อผ้าราคาถูกมาก เพื่อเปลี่ยนบ่อยเท่าไรก็ได้ที่เราทำอยู่ก็เป็นปัญหา อุตสาหกรรมแฟชั่นสำหรับใครหลายคนจึงอาจมีภาพแบบหนึ่ง แต่กับเธอ “อุ้ง-กมลนาถ องค์วรรณดี” ผู้ประสานงานเครือข่าย Fashion Revolution Thailand พ่วงการเป็นนักออกแบบอิสระและอาจารย์พิเศษที่ภาคศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แฟชั่นไม่ใช่แค่เสื้อผ้าสวย ๆ บนรันเวย์ แต่หมายถึงเสื้อผ้า สไตล์ หมายถึงสิ่งที่เธอรัก และหมายถึงการที่เธออยากเห็นอุตสาหกรรมแฟชั่นดีขึ้นไปพร้อม ๆ กัน แล้วแฟชั่นจะไปกันได้กับสิ่งแวดล้อม สิทธิแรงงาน การบริโภคที่ช้าลงได้จริงไหม? ถ้าได้จริง มันลงมือทำได้ง่าย ๆ หรือเปล่า? เราอยากสปอยล์คำตอบตรงนี้ว่า “ทำได้จริง และง่าย ง่ายจนเริ่มลงมือทำทันทีที่อ่านจบก็ยังได้” แต่ทำอย่างไร? เราก็อยากชวนมาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน ‘Fashion Revolution’ กลุ่มคนรักแฟชั่นที่อยากเห็นแฟชั่นดีขึ้น การอยากเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง ไม่ได้หมายความแค่ว่าเราไม่ชอบสิ่งนั้น แต่อาจหมายความว่าเรารักสิ่งนั้นมาก ๆ จนอยากเห็นสิ่งนั้นดีขึ้น
ก่อนวัฒนธรรมต่าง ๆ จะผสมผสานรวมตัวกันได้หลายหลากเหมือนในปัจจุบัน ผู้คนบนโลกต้องลองผิดลองถูกเพื่อจับคู่หลายสิ่งเข้าด้วยกัน รวมไปถึงโลกของสนีกเกอร์ในยุคแรกที่ต่างจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง เพราะสมัยนั้นไม่ได้มีการตลาดควบคู่กับศิลปินหรืออินฟลูเอนเซอร์ประกาศออกมาตั้งแต่ก่อนผลิตเหมือนอย่างทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามในอดีตมีโมเดลรองเท้าอยู่ 1 คู่ที่ได้ปฏิวัติวงการให้โลกรู้ว่าความลงตัวระหว่างสนีกเกอร์และวัฒนธรรมฮิปฮอปนั้นแสนลงตัวซึ่งกลายมาเป็นรากฐานสำคัญของตลาดรองเท้าในปัจจุบัน ชื่อของมันคือ Adidas Superstar และเราจะพาทุกท่านมาทำความรู้จักเส้นทางสู่การเป็นตำนานของรองเท้าคู่นี้ไปพร้อมกัน ยุคแรกเริ่มโลกไม่ได้รู้จักรองเท้าคู่นี้ในชื่อ Superstar แต่เป็น Supergrip ผลิตขึ้นครั้งแรกในปี 1965 ดีไซน์ของทั้ง 2 รุ่นมีความเหมือนในหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นการวางแถบ 3 ขีดด้านข้างตัวรองเท้า พื้นหนา แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือส่วน Toe Box ซึ่งจะพัฒนาเป็นเอกลักษณ์สำคัญในเวลาต่อมา Supergrip ถูกออกแบบให้เหมาะสมต่อการเล่นกีฬาอย่างเทนนิส และสามารถตอบโจทย์ได้ดีกับกีฬาที่เปลี่ยนการเคลื่อนไหวร่างกายแบบเฉียบพลัน แต่ในปี 1969 แบรนด์ Converse ครองตลาดรองเท้าบาสเกตบอลด้วยโมเดล All-Star ที่ได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ระดับมัธยม มหาลัยไปจนถึงลีกอาชีพอย่าง ทำให้ที่ปรึกษาของอาดิดาสในเวลานั้นอย่าง Chris Severn เสนอให้บอร์ดสร้างรองเท้าบาสเข้ามาป้อนเข้าแข่งขันในตลาดบ้าง อาดิดาสเริ่มพัฒนาโมเดล Supergrip ให้เป็นรองเท้าบาสเกตบอลที่สมบูรณ์แบบ เพราะพวกเขาไม่ได้ต้องการวางขายรองเท้าธรรมดา ๆ แต่ตั้งใจสร้างรองเท้ากีฬาที่จะช่วยลดการบาดเจ็บของผู้เล่น เพราะมีผลสำรวจว่านักกีฬาบางส่วนที่ใส่รองเท้าผ้าใบแคนวาสมักมีปัญหาบาดเจ็บ สิ่งที่พวกเขาทำคือขึ้นรูปรองจากเท้าด้วยหนังแท้สีขาวซึ่งให้ความกระชับมากกว่าเวลาที่ผู้เล่นขยับข้อเท้าหรือหัวเข่า และเพิ่มขนาดส่วนโซลให้หนามากขึ้นเพื่อลดแรงกระแทก ก่อนตกแต่งด้วยลวดลาย Three-Stripe