World

NIHON STORIES: จากยากูซ่าสู่ชายขายอุด้ง เรื่องจริงของชาวแก๊งที่อยากล้างมือจากวงการมืด

By: TOIISAN March 4, 2020

เด็กผู้ชายส่วนใหญ่ชอบอ่านมังงะลูกผู้ชาย ดูหนังดวลเดือดของพวกแยงกี้ และเป็นแฟนคลับหนังยากูซ่า จนบางครั้งเผลอคิดว่าตัวเองรู้จักวงการนี้ดีพอจากการเสพสื่อ จนเชื่อว่าหากวันหนึ่งมีโอกาสได้เข้าไปในวงการโลกสีดำ ใครหลายคนจะรีบกระโจนเข้าไปทันที เพราะภาพลักษณ์ของยากูซ่ามันทั้งเท่ โคตรห่าม มีอำนาจ และอยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งเป็นความคิดตรงข้ามกับคนที่ใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตอยู่กับคาวเลือดสิ่งผิดกฎหมายที่อยากกลับคืนสู่สามัญเป็นคนธรรมดาเสียอย่างนั้น

UNLOCKMEN พร้อมเผยให้เห็นอีกมุมหนึ่งของโลกยากูซ่าญี่ปุ่น ผ่านเรื่องจริงของยากูซ่า 3 คน ที่บังเอิญเจอกันในคุก พวกเขาแบ่งปันเรื่องราวที่เจอมา ทั้งความเหนื่อยจากการทำงาน นิ้วมือที่หายไปจากการถูกลงโทษเมื่อทำงานไม่สำเร็จ รวมถึงความกดดันและความหวาดระแวงต่อยากูซ่าด้วยกัน และเรื่องตำรวจ สิ่งที่ได้จากบทสนทนาคือความรู้สึกอยากกลับไปเป็นผู้ชายธรรมดา มีชีวิตเหมือนคนอื่น พวกเขาเลยตกลงกันว่าหากพ้นโทษออกจากคุกเมื่อไหร่จะเปิดร้านราเมงด้วยกัน

สำนักข่าว NHK นำเสนอเรื่องราวชีวิตยิ่งกว่าละครของยากูซ่าญี่ปุ่นสามคน เนื่องจากมีผู้คนแวะเวียนไปทานอาหารที่ร้านอุด้งร้านหนึ่งย่านคิตะคิวชู (KitaKyushu) จังหวัดฟุกุโอกะ และรู้สึกว่าพนักงานในร้านแตกต่างจากคนทั่วไป ถึงแม้ร่างกายที่เต็มไปด้วยรอยสักจะถูกปกปิด แต่บุคลิกบางอย่างของยากูซ่านั้นปิดไม่มิด เช่น ท่าทางการเดิน การกันคิ้ว และนิ้วที่หายไป ปัจจัยทั้งหมดนี้ทำให้ประสบการณ์การเข้าไปกินอาหารในร้านที่มีชายฉกรรจ์หน้าตาไม่รับแขกถูกบอกต่อไปแบบปากต่อปาก 

เมื่อทีมข่าวลงพื้นที่ไปยังร้านอุด้ง สอบถามเรื่องราวจนพบว่าพวกเขาทั้งสามต่างเป็นยากูซ่าที่เจอกันในคุก และสัญญาว่าจะเปิดร้านอาหารด้วยกัน ชายที่เป็นคนออกไอเดียร้านอาหารมีชื่อว่านากาโมโตะ ทากาชิ (Nagamoto Takashi) วัย 54 ปี

เขาเข้าวงการยากูซ่าเมื่อปี 1988 มีปมวัยเด็กเพราะถูกพ่อแม่ทิ้งและอยู่กับแก๊ง Kudo-Dai ที่มีสมาชิกกว่า 600 คน มานานถึง 30 ปี พ่วงตำแหน่งยากูซ่าอาวุโสของแก๊งจนกระทั่งวันหนึ่งเกิดแตกหัก ตัดความสัมพันธ์กับยากูซ่า ติดคุก 8 ปี พ้นโทษออกมาเมื่อปี 2016 

“ผมไม่ได้เข้าแก๊งยากูซ่าเพราะเงิน ของแบรนด์เนม หรือรถหรู แต่ถ้าคุณเป็นยากูซ่าก็จะไม่มีใครอยากมายุ่งกับคุณ นั่นคือสิ่งที่ผมต้องการตอนนั้น” – นากาโมโตะ ทากาชิ

ชายคนที่สองไม่ยอมบอกชื่อและให้เรียกเขาด้วยนามสกุลแทน ชินโงะ (Shingo) อายุ 45 ปี ติดคุกมาแล้ว 6 ครั้ง ออกจากคุกเมื่อปี 2017 โดยเขาตั้งมั่นว่าหลังจากนี้จะต้องไม่ติดคุกอีกเป็นครั้งที่ 7

ส่วนยากูซ่าคนสุดท้ายทสึโยชิ (Tsuyoshi) เป็นน้องเล็กของกลุ่มอายุ 40 ปี จากแก๊งซิ่งรถกวนเมือง เคยติดคุกสองครั้งและออกจากคุกก่อนใครเพื่อนในปี 2014 แม้พวกเขาออกจากคุกไม่พร้อมกันแต่เมื่อกลับมาเจอกันอีกครั้ง ฝันลม ๆ แล้ง ๆ ที่คุยกันไว้ในคุกก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

 

ร้านอุด้งในตรอกที่สร้างจากน้ำพักน้ำแรงของอดีตยากูซ่า

สาเหตุที่นักเลงเก่าสามคนตัดสินใจเอาเงินที่เหลืออยู่น้อยนิดมาเปิดร้านอาหารเองเป็นเพราะไม่มีใครในญี่ปุ่นอยากจ้างงานยากูซ่า โดยเฉพาะยากูซ่าที่เพิ่งออกจากคุก แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะมีงานทำ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มองว่าคนเข้าแก๊งยากูซ่าล้วนเลือกเดินเข้าไปในเส้นทางนี้เอง และพวกเขาไม่ต้อนรับคนที่เลือกทำผิดแต่อยู่ ๆ เกิดอยากเป็นคนดีขึ้นมาแล้วแกล้งลืมเรื่องแย่ที่ตัวเองเคยทำไว้

นอกจากนี้นักสังคมวิทยาและนักวิชาการเกี่ยวกับอาชญากรรมญี่ปุ่น โนโบรุ ฮิโรซึเอะ (Noboru Hirosue) ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่าวงการยากูซ่าเข้าง่ายออกยาก ถ้าใครคิดจะออกจากแก๊งต้องซ่อนตัวให้พ้นสายตาของยากูซ่าคนอื่น ๆ นานหลายปี เมื่อไม่มีแก๊งหนุนหลังคนเหล่านี้จะไม่สามารถทำธุรกรรมทางการเงินเองได้ ทำให้ยากูซ่าระดับกลางขึ้นไปพอออกจากคุกก็มักไปอยู่ต่างประเทศ แล้วค่อยกลับมายังญี่ปุ่นอีกครั้ง และเขาแทบจะไม่เคยเห็นยากูซ่าระดับอาวุโสอย่างนากาโมโตะหันหลังให้กับอำนาจ ความยิ่งใหญ่ ความร่ำรวยมาเป็นผู้ชายธรรมดา

Nakamoto Takashi

นากาโมโตะเล่าว่าหลังออกจากคุกเขาพยายามหางานทุกทาง มองหาอาชีพที่ทำได้ตามหนังสือพิมพ์ เว็บไซต์ แต่หลังจากพยายามมาเกือบปีเขาก็พบว่าไม่มีใครอยากจ้างอดีตยากูซ่ามางาน จึงยอมแพ้ย้ายไปอยู่กับเพื่อนที่ทำร้านอาหารอยู่ประเทศเวียดนาม รีบทำงานเก็บเงินเพื่อกลับมาทำร้านอุด้งตามที่สัญญาไว้กับเพื่อนอีกสองคน 

ในคลิปตามติดชีวิตของแก๊งยากูซ่าขายราเม็ง จะมีตอนหนึ่งที่อดีตยากูซ่าจะไปเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคาร และแสดงสีหน้าดีใจแบบปิดไม่มิดเมื่อรู้ว่าเขาสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ หลังจากที่ล้มเหลวมามากกว่า 2 ครั้ง กับการเปิดบัญชี กลายเป็นว่าบัญชีเงินฝากที่ใคร ๆ ก็มี กลับกลายเป็นสมบัติล้ำค่าที่ยากูซ่ากลับใจถวิลหาเพราะมันไม่ใช่สิ่งที่ได้มาง่าย ๆ สำหรับพวกเขา

พวกเขาสามคนต้องเรียนวิธีทำอาหารจากเจ้าของร้านอุด้งชื่อดังในฟุกุโอกะ ทำความรู้จักกับเครื่องครัว ศึกษาวิธีเลือกวัตถุดิบเวลาไปจ่ายตลาด และมารยาทของพ่อครัว แรก ๆ สามยากูซ่าไปเรียนพวกเขาทำทุกอย่างที่กล่าวมาได้แย่มาก หั่นผักไม่ได้ ต้มน้ำซุปก็ไม่เข้าเนื้อ พวกเขาต้องใช้เวลาฝึกฝนการทำอาหารอย่างจริงจัง

พอเริ่มเรียนรู้การทำอาหารมากขึ้น พวกเขาจะต้องออกไปแจกใบปลิวเพื่อโปรโมตให้ผู้คนรับรู้ว่าจะมีร้านอุด้งเปิดใหม่ที่คิตะคิวชู แต่น้อยคนจะยอมรับใบปลิวจากอดีตยากูซ่า จนก่อให้เกิดความรู้สึกอับอายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน แต่นากาโมโตะพี่ใหญ่ของกลุ่มสามารถแจกใบปลิวได้มากที่สุดก็สอนน้องอีกสองคนว่า “พวกนายยิ้มน้อยไป ดูแข็งกร้าว และก็มีท่าทางที่ไม่น่าไว้ใจจริง ๆ นั่นแหละ”

Noboru Aoki/Shinchosha

สิ่งสำคัญที่คนญี่ปุ่นให้ความใส่ใจไม่แพ้รสชาติอาหารคือบริการที่ดีเยี่ยม ก่อนเปิดร้านพวกเขาต้องไปเข้าคอร์ส Customer service training ฝึกตะโกนว่า “อิรัชชัยมาเสะ!” (ยินดีต้อนรับครับ) ฝึกเสิร์ฟน้ำกับผ้าเย็น เวลาวางแก้วจะต้องวางเบา ๆ พร้อมผายมือข้างหนึ่ง แต่ชินโงะกลับโดนดุเพราะเผลอกระแทกแก้วน้ำใส่ลูกค้าเพราะเคยชินติดตัวมาเพราะยากูซ่าจะต้องไม่เบามือ 

สาเหตุที่พวกเขาต้องจ่ายเงินเพื่อเรียนรู้ทุกอย่างขนาดนี้เพราะเขามองว่าการเปิดร้านไม่ได้อยู่ ๆ ก็จะมาทำโดยไม่มีพื้นฐานอะไรเลย และถ้าฝืนทำแล้วผลออกมาไม่ได้เรื่อง เงินก้อนสุดท้ายของพวกเขาก็จะสูญเปล่า เป็นผลลัพธ์ที่พวกเขาจะไม่ยอมให้มันเกิดขึ้น

นากาโมโตะให้ความเห็นเกี่ยวกับรอยสักไว้น่าสนใจ เขาบอกว่าเมื่อก่อนถ้าใครมีรอยสักก็จะโดนตัดสินไว้ก่อนแล้วว่าเป็นยากูซ่า แต่ปัจจุบันรอยสักกลายเป็นแฟชั่น วัยรุ่นญี่ปุ่นจำนวนมากเดินไปเดินมาพร้อมกับโชว์รอยสัก ปัญหาข้อนี้จึงไม่หนักหนามาก แต่สิ่งที่ยากและสร้างปัญหาให้พวกเขาคือนิ้วที่ไม่ครบข้อต่างหาก

มีคนตั้งคำถามกับนากาโมโตะว่า “รู้สึกอย่างไรกับอดีตของตัวเอง” เขาตอบว่าตอนแรกก็ไม่รู้สึกอะไร แต่พอเข้าไปอยู่ในคุกก็เห็นมุมมองใหม่ที่ไม่เคยเจอ การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ทำให้คิดได้ว่าชีวิตวัยเด็กของตัวเองทำร้ายคนอื่นมาไม่น้อย รับรู้ความเกลียดชังปนหวาดกลัวของคนทั่วไปชัดเจนมากขึ้นเมื่อมาทำร้านอาหาร

Nakamoto Takashi

“คนธรรมดาอาจเริ่มทำบางสิ่งจากศูนย์ แต่พวกเราเริ่มต้นจากติดลบ” – นากาโมโตะ ทากาชิ 

จากยากูซ่าที่ยอมก้มหัวให้แค่ลูกพี่ เปลี่ยนมาเป็นพนักงานร้านอาหารที่ต้องก้มหัวขอบคุณลูกค้าทุกคน ปรับเปลี่ยนบุคลิก เดินกลับจากสังคมชายขอบเข้าสู่โลกทุนนิยม จากวันเปิดร้านขายได้ 80 ชาม ตอนนี้ร้านอุด้งเล็ก ๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในตรอกใกล้กับสถานีรถไฟ Heiwa Dori ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า พร้อมกับเมนูแนะของร้าน ‘อุด้งเนื้อเส้นชาเขียว’ อุด้งเส้นนุ่มกับเนื้อเปื่อยก้อนใหญ่เสิร์ฟมาในน้ำซุปร้อน ๆ มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์ และเจ้าของร้านสามคนที่ทิ้งท้ายไว้ว่าตอนนี้เขาไม่ใช่ยากูซ่า แต่เป็นเพียงคนทำงานสุจริตที่มีชีวิตธรรมดา ๆ คนหนึ่ง

 

เรื่องราวที่น่าสนใจของยากูซ่าที่ UNLOCKMEN เคยเล่าไว้แล้ว:

NIHON STORIES: จุดเริ่มต้นของ YANKEE และแฟชั่นจัดจ้านเหนือจินตนาการของเหล่าวัยรุ่นชายขอบ

NIHON STORIES: “ยากูซ่า สตรี และรอยสัก” เรื่องราวของหญิงสาวในพื้นที่สีดำของมาเฟีย

NIHON STORIES: YAMAGUCHI GUMI จากอันธพาลย่านคันไซสู่แก๊งยากูซ่าผู้ทรงอิทธิพลของญี่ปุ่น

NIHON STORIES: เมื่อมังงะ GOKUSHUFUDO วิถียอดพ่อบ้านยากูซ่ากลับใจ จะมีชีวิตด้วยไลฟ์แอกชัน

NIHON STORIES: รอยสักญี่ปุ่น ศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ที่ผู้คนทั่วโลกจับตามอง

 

SOURCE 1 / 2

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line