Life

ZERO TO HERO OF THE YEAR: เรื่องราวจาก 5 บุคคล ที่ UNLOCKMEN ชื่นชอบที่สุดของปี 2019

By: TOIISAN December 19, 2019

ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ UNLOCKMEN ทำต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกปีกับการจัดอันดับที่สุดในสาขาต่าง ๆ บางครั้งเราก็รวบรวมอันดับเทรนด์แฟชั่นของโลก รวม 5 ภาพยนตร์ที่ใคร ๆ ต่างโหวตว่าดีที่สุด หรือจัดอันดับเหตุการณ์เด่นที่เกิดขึ้นในปีนั้น ๆ

สำหรับปี 2019 เราก็ไม่พลาดที่จะเลือกเรื่องราวของเหล่าสุภาพบุรุษที่ UNLOCKMEN ได้มีโอกาสไปนั่งพูดคุย รู้จักตัวตน ล้วงลึกถึงประเด็นน่าสนใจ เรื่องราวจิกกัดแบบแสบ ๆ หรือความล้มเหลวก่อนก้าวสู่ความสำเร็จ จากบุคคลหลากสาขาหลากอาชีพที่รวมอยู่ใน ZERO TO HERO และเลือกให้เหลือ 5 บุคคลที่เราชื่นชอบและประทับใจในเรื่องราวของพวกเขา

 

รังสรรค์ จันทร์วรวิทย์ ราชา ZIPPO เมืองไทย

ไม่ใช่ทุกคนจะจับความชอบของตัวเองให้กลายเป็นธุรกิจแล้วทำให้มันประสบความสำเร็จ แต่ด้วยแพสชันอย่างแรงกล้าต่อความหลงใหลไฟแช็ก Zippo ของ ‘แต๋น-รังสรรค์’ ทำให้เขากลายมาเป็นผู้ก่อตั้งและประธานชมรม Zippo Club Thailand และถูกผู้คนเรียกว่าเป็นราชา Zippo ของเมืองไทย 

หลายคนในวัยเด็กต่างก็เห็นผู้ใหญ่ใกล้ตัวพกไฟแช็ก Zippo ตั้งแต่รุ่นปู่จนถึงรุ่นพ่อ เพราะไฟแช็กทรงเหลี่ยมที่มีเสียงอันเอกลักษณ์ถือเป็นอีกหนึ่งตัวแทนความเท่ของผู้ชายที่อยู่มาทุกยุคทุกสมัย และคุณแต๋นที่เห็นลุงใช้ Zippo มาตั้งแต่เด็กก็ชื่นชอบจนอยากมีไว้เป็นของสะสมเช่นกัน แต่กลายเป็นว่าความชอบของเขาถูกผู้คนมองว่าไร้สาระ เปลืองเงิน และไร้ประโยชน์

แม้คำวิจารณ์จะบั่นทอนจิตใจ แม้ว่าใครจะไม่เข้าใจความชอบและหลงใหลใน Zippo รังสรรค์ก็เลือกเส้นทางของตัวเอง บางครั้งอาจจะล้มบ้าง เปิดร้านขายไฟแช็กครั้งแรกแล้วเจ๊งไม่เป็นท่า แต่เขาก็ยังมุ่งมั่นลุกขึ้นแล้วก้าวเดินต่อไปจนในที่สุดประเทศไทยก็รู้จักเขาในฐานะกูรู Zippo ที่ไม่มีใครเทียบ 

“เพราะเรารักและเชื่อมั่นในสิ่งที่เรารัก แต่ถ้าเราทำมันเล่น ๆ ก็ไม่มีวันมาถึงจุดนี้ได้” 

อ่านบทสัมภาษณ์แบบเต็ม ๆ ของผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Zippadeedoo ได้ที่: ZERO TO HERO: รังสรรค์ จันทร์วรวิทย์ ราชา ZIPPO เมืองไทย ผู้เปลี่ยนงานอดิเรกให้กลายเป็นธุรกิจ

 

เป๋ง-ชานนท์ อาร์ตไดฯ เรื้อนแต่เทพ เมาแต่มีของ

“เมาเรื้อนยังไงก็ได้ แต่มีความสามารถที่ทำให้คนอื่นว่ากูก็มีของ”

จุดเริ่มต้นของการทำงานอาร์ตของ ‘เป๋ง-ชานนท์’ เกิดขึ้นเพราะว่า “ผมอยากดังอ่ะ” ที่สั้น ๆ ง่าย ๆ แต่มันกลับเป็นแรงกระตุ้นที่ทำให้เขามุ่งหน้าสู่ความสำเร็จแบบไม่มีเหนื่อย ชานนท์ทำให้ UNLOCKMEN เห็นถึงตัวตนแท้จริงที่หลายคนอาจไม่กล้าบอกคนอื่นว่าเราเป็นคนขี้อิจฉา อยากเด่นดังอยู่กลางสปอตไลต์ แต่เขากลับพูดมันออกมาง่าย ๆ เพราะสุดท้ายเขาจะไม่ได้นั่งอิจฉาคนอื่นอย่างเดียว แต่จะลงมือทำ ฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอเพื่อให้ตัวเองไปถึงจุดนั้นให้ได้ 

มีหลาย ๆ คนคิดว่างานออกแบบหรืออาร์ตไดเรกเตอร์เป็นอาชีพที่ง่าย แค่วางองค์ประกอบให้ถูก เลือกสีให้เข้าก็ทำได้แล้ว แต่จริง ๆ ทุกอย่างมันไม่มีอะไรง่ายแบบที่คิด แม้ภาพลักษณ์ของเขาจะดูเป็นชายขี้เมาเรื้อน ๆ แต่เมื่อมานั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์และเริ่มต้นทำงาน เขาจะกลายเป็นชายที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเทกับงานของตัวเอง

อ่านบทสัมภาษณ์แบบเต็ม ๆ ของชายที่กล้าพูดทุกเรื่องได้อย่างไม่อายใครได้ที่: เรื้อนแต่เทพ เมาแต่มีของ: “เป๋ง-ชานนท์” อาร์ตไดฯ ที่เชื่อว่างานออกแบบไม่ใช่การกดสูตร

 

ต๋อง-สุพจน์ ชายผู้มีอาชีพขายอดีต

แม้ว่าโลกใบนี้จะหมุนไปอย่างรวดเร็ว ใคร ๆ ต่างก็ต้องพึ่งพาและอยู่กับเทคโนโลยีกันเกือบ 24 ชั่วโมงเพื่อให้เท่าทันโลก ทุกคนต่างก็กำลังวิ่งไปข้างหน้ากันอย่างไม่หยุดพัก แต่ในเวลาเดียวกันกลับมีชายคนหนึ่งที่พึงพอใจจะอยู่กับความชอบของตัวเอง และย้อนเวลาสู่อดีตแสนหอมหวานด้วยสิ่งที่เรียกว่า ‘ของเก่า’

ชายคนหนึ่งสร้างอาณาจักรของเก่านามว่า PAPAYA ขึ้นมาและอยู่กับมันด้วยความรัก เขาคนนั้นคือ ‘ต๋อง-สุพจน์ ศิริพรเลิศกุล’ ชายรุ่นเก๋าที่คร่ำหวอดวงการแอนทีคในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน ถ้าหนุ่มคนไหนชอบของเก่า และอยู่ในกลุ่มที่ผู้คนรักของเก่าก็จะต้องเคยได้ยินชื่อของ ต๋อง สุพจน์ กันสักครั้งแน่นอน

จุดเริ่มต้นจากการสะสมของเก่าด้วยความรัก ต่อยอดกลายเป็นธุรกิจทำเงินมหาศาล ใครหลาย ๆ คนอาจคิดว่าของเก่ามันคือขยะ เป็นของที่พังแล้ว แต่หากเรารู้วิธีรักษา รู้วิธีอยู่กับมันและสร้างคุณค่า ของเก่าเก็บที่หลายคนมองข้ามสามารถเพิ่มมูลค่าจากเดิมได้มากกว่า 10 เท่า เพราะถ้าหากรู้จักเกมธุรกิจเราก็จะกลายเป็นคนที่ใช้ความชอบพาไปสู่ไปความสำเร็จได้ง่าย ๆ และต้องลงมือทำอย่างทันที

“อย่าเป็นนักสะสมความฝัน เพราะมันจะทำให้เราไม่เข้าใกล้ความสำเร็จแม้แต่คืบเดียว”

อ่านบทสัมภาษณ์แบบเต็ม ๆ ของยอดนักสะสมของเก่าที่เต็มไปด้วยแนวคิดเท่ ๆ ได้ที่: “อาชีพนี้เราขายอดีต” คุยเรื่องเก่ากับคนเก๋า ‘ต๋อง-สุพจน์’ นักสะสมความทรงจำแห่ง PAPAYA 

 

เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร จุดเด่นคือการเป็นคนธรรมดา

เมื่อปีประมาณ 2-3 ปี ก่อน เราจะเห็นข่าวสรรพสามิตฯ บุกตึกแถวจับหนุ่มนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยดัง เพราะคิดค้นสูตรเบียร์เพื่อหมักและขายเอง 

เพราะผู้ชายแทบทุกคนล้วนชื่นชอบการลิ้มรสเบียร์ที่หลากหลายด้วยกันทั้งนั้น ‘เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร’ ก็เช่นกัน เขาคือหนึ่งในผู้ชายที่หลงใหลเบียร์ อยากดำดิ่งถึงศาสตร์ของมันให้มากขึ้นและท้ายที่สุดก็จบด้วยการโดนจับ 

หลังจากเหตุการณ์ที่สะเทือนวงการคราฟต์เบียร์ประเทศไทย เท่าพิภพกลับมาอีกครั้งในบทบาทใหม่คือการลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎรในฐานะสมาชิกของพรรค ‘อนาคตใหม่’ พร้อมกับชูนโยบายผลักดันให้คราฟต์เบียร์ในประเทศไทยเป็นเรื่องถูกกฎหมาย 

“เราอยู่ในประเทศที่รัฐบาลไม่ส่งเสริมศักยภาพของธุรกิจขนาดย่อม ทำไมเราถึงต้องถูกจำกัดด้วยกฎหมายล้าหลังที่ไม่ทันโลกของรัฐบาล ?”

ไม่แน่ว่าในอนาคตสักวันหนึ่ง เราก็ได้แต่เฝ้าภาวนาว่าเรื่องราวเหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายสักที เพื่อปลดล็อกให้ทุกคนเข้าถึงโอกาสและกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้มากขึ้น เพราะกลุ่มทุนกลุ่มเดียวไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้ 

อ่านบทสัมภาษณ์แบบเต็ม ๆ ของชายหนุ่มที่หลงใหลเบียร์และก้าวเข้าสู่โลกการเมืองได้ที่: ZERO TO HERO: ‘เท่าพิภพ’ ชีวิตที่รสชาติเหมือนเบียร์และการเป็นอนาคตใหม่ของประเทศ

 

ป๊อก-ไพโรจน์ ศิลปินไทยที่ทุ่มเวลากว่า 7 ปีเพื่อคนไร้บ้าน 

ทุกสังคมต่างมีคนไร้บ้าน ทุกสังคมมีผู้คนที่หลงทาง ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เราจะเห็นคนไร้บ้านเดินสิ้นหวังอยู่ตามถนนหนทางหรือนอนซุกอยู่ในมุมตึกสักแห่ง และ ‘ป๊อก-ไพโรจน์’ คือศิลปินที่ลงมาคลุกคลีอยู่กับกลุ่มคนเหล่านี้เพื่อรู้จักให้มากขึ้น

ไพโรจน์วาดภาพของคนไร้บ้านคนแล้วคนเล่า บางครั้งพวกเขาก็พอใจและขอภาพเหมือนของตัวเองกลับไป บางภาพที่ตั้งใจก็ถูกฉีกทิ้งอย่างไม่ไยดี แต่เขาก็ยังเชื่อว่าการออกมาวาดรูปผู้คน ได้นั่งพูดคุยกับเขา มอบของตอบแทนเล็ก ๆ อย่างอาหารหนึ่งมื้อเพื่อให้อิ่มท้องแม้จะวันเดียว ช่วยสร้างรอยยิ้มเล็ก ๆ ให้กับผู้คนที่ผ่านไปมารวมถึงเหล่าชาวไร้บ้านได้อย่างไม่น่าเชื่อ 

เขาเริ่มโปรเจกต์โฮมเลสท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าสร้างภาพ โดยคำสบประมาทว่าทำงานไม่รุ่งจนต้องมาหากินกับโฮมเลส แต่เขากลับไม่แคร์เสียงเหล่านั้นและมุ่งมั่นทำตามอุดมการณ์ของตัวเองต่อไป กลายเป็นว่าการกระทำที่โดนหาว่าสร้างภาพนั้นได้ดำเนินมาถึงปีที่ 7 แล้ว และเขาก็ใช้เงินของตัวเองจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือคนไร้บ้านและผู้พลัดถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยให้ได้กลับบ้าน เพราะไพโรจน์เชื่อว่า

“รูปภาพก็คือการสื่อสารแม้ไม่ได้พูดคุยกัน แต่เราได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ผู้คนที่เห็นจะให้ความสนใจและอยากยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือมากขึ้น”

อ่านบทสัมภาษณ์แบบเต็ม ๆ ของศิลปินที่อุทิศตนอยู่กับคนไร้บ้านได้ที่: ZERO TO HERO: 7 ปีกับการสร้างวิมานในกระดาษของ ป๊อก-ไพโรจน์ ศิลปินไทยที่วาดภาพให้คนไร้บ้าน

 

เรื่องราวต่างบุคคล ต่างสถานการณ์ แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันของพวกเขาคือบทสนทนาเหล่านี้สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนได้ คำพูดหนึ่งประโยคหรือการกระทำบางสิ่งสามารถขับเคลื่อนสังคม ปลอบโยนความโหดร้ายของชีวิต และเป็นตัวอย่างสำหรับคนที่กำลังเหนื่อยหรือท้อ เพราะชีวิตจริงมันไม่มีใครประสบความสำเร็จมาตั้งแต่ต้น แต่ทุกคนก็ต้องสร้างความสำเร็จของตัวเองขึ้นมาจากความมานะและแพสชันที่มีอยู่เต็มหัวใจ

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line