Entertainment

NIHON STORIES: อมยิ้ม เหงาหว่อง และร้องไห้จนหมดมาดกับแอนิเมชัน 21 เรื่องของ STUDIO GHIBLI

By: TOIISAN March 17, 2020

ถ้าใครเป็นแฟนคลับแอนิเมชันจากเกาะญี่ปุ่นเราเชื่อว่าจะต้องรู้จักสตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli) ค่ายหนังแอนิเมชันของญี่ปุ่นที่ผลิตผลงานอันเป็นเอกลักษณ์และได้รับความนิยมในไทยมาตั้งแต่ยุค 90 แถมสมัยก่อนถ้าใครอยากจะดูผลงานของค่ายนี้ก็จะต้องมุดหาดูใต้ดินแบบผิดกฎหมาย ดูวิดีโอเถื่อน แผ่นซีดีเถื่อน เพราะไม่มีใครซื้อมาฉายแบบถูกลิขสิทธิ์สักที

แอนิเมชันของสตูดิโอจิบลิมักมีเนื้อหาสะท้อนสังคม ชวนให้ตั้งคำถามถึงศีลธรรมกับจิตใจอันยากจะเดาได้ของมนุษย์ บอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้นน่ารัก ๆ ที่ซ่อนเนื้อหาหนักเอาไว้ได้อย่างแนบเนียน ด้วยเนื้อหา การเล่าเรื่อง ลายเส้น และดนตรีประกอบกลมกล่อมจนสามารถคว้ารางวัลใหญ่ของวงการภาพยนตร์อย่างออสการ์ สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมมาครองได้ 

หลังจากมุดใต้ดินกันมานาน ในที่สุดแอนิเมชันของสตูดิโอจิบลิก็ก้าวขึ้นสู่วัฒนธรรมกระแสหลักอย่างเต็มตัว ปัจจุบันเราสามารถดูผลงานของสตูดิโอจิบลิในโรงภาพยนตร์ ดูผ่านระบบสตรีมมิงชื่อดังอย่าง Netflix ที่ในตอนนี้ขนแอนิเมชันกว่า 21 เรื่อง แบ่งปล่อย 3 เดือนติดกัน เริ่มจากวันแรกของเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2020 ให้แฟนหนังได้เลือกดูเรื่องที่ชอบกันจนตาแฉะ 

UNLOCKMEN ได้รวบรวมรายชื่อแอนิเมชันทั้งหมด 21 เรื่อง พร้อมกับเรื่องย่อของแต่ละเรื่องมาให้คนอยู่บ้านเหงา ๆ เลือกดูกัน บางคนอยากนั่งดูแบบอมยิ้ม ดูแล้วคิดถึงรักครั้งแรก บางคนอยากร้องไห้จนตาบวม หรือบางคนอยากสัมผัสความเหงาหว่อง ก็เลือกกันตามสไตล์ที่อยากดูได้เลยครับ 

 

1 FEBRUARY 2020

 

PORCO ROSSO (1992)

พอร์โค รอสโซ สลัดอากาศประจัญบาน 

“กังวลมากหรือกับการที่ฉันเป็นผู้หญิง หรือกังวลเพราะว่าฉันยังเด็กอยู่ ?”

ถ้าพูดถึงพอร์โค รอสโซ สลัดอากาศประจัญบาน เด็ก ๆ หลายคนอาจบอกว่าไม่สนุกและดูไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ดันกลายเป็นแอนิเมชันที่สามารถครองใจผู้ใหญ่หลายคนได้ง่าย ๆ เพราะแอนิเมชันเรื่องนี้เล่าเรื่องของสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านบทสนทนาที่จริงจัง เผยให้เห็นมุมมองของคนช่วงสงคราม ความไม่เท่าเทียมที่ผู้หญิงต้องต่อสู้ และชายที่ถูกเสกให้กลายเป็นหมู ตัวแทนของชายวัยกลางคนที่เริ่มอ่อนล้าและขี้เกียจ เพราะค้นพบว่าตัวเองไม่สามารถเปลี่ยนโลกได้ดังที่เคยฝันไว้ในวัยเด็ก 

 

MY NEIGHBOR TOTORO (1988)

โทโทโร่เพื่อนรัก

สำหรับใครที่อยากดูแอนิเมชันฟีลกู๊ดเพราะโลกแห่งความจริงมันก็ดาร์กมากพอแล้ว เราขอแนะนำโทโทโร่เพื่อนรัก (1988) แม้เส้นเรื่องของแอนิเมชันเรื่องนี้จะยังวนอยู่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เต็มไปด้วยการปลูกฝังให้ผู้คนต่อสู้ มีความรับผิดชอบ และเล่าถึงการหวนคืนจากสังคมเมืองที่หันไปทางไหนก็เจอแต่คอนกรีตมายังธรรมชาติอันแสนอบอุ่น นำเสนอผ่านมุมมองของเด็กสองคนที่พบว่าในป่าข้างบ้านที่เพิ่งย้ายมาอยู่ มีสัตว์วิเศษที่คอยพิทักษ์ป่าอาศัยอยู่

 

LAPUTA CASTLE IN THE SKY (1986)

ลาพิวต้า พลิกตำนานเหนือเวหา 

ว่ากันว่าในอดีตเนิ่นนานมาแล้ว มนุษย์สามารถสร้างอาณาจักรลอยฟ้าได้และเรียกเมืองแห่งนั้นว่า “ลาพิวต้า” ด้วยเหตุผลบางอย่างที่ทำให้เมืองเหนือเวหาต้องล่มสลายลง แต่ก็ยังมีผู้คนที่เชื่อเรื่องเล่าเก่าแก่ว่าลาพิวต้ามีจริงและไม่ได้ล่มสลายไปไหน เพียงแค่ซ่อนตัวจากสายตาของผู้คน ล่องลอยอยู่ที่ไหนสักแห่งบนโลกใบนี้ 

ตัดภาพมายัง ‘ปาสึ’ เด็กกำพร้าที่ต้องทำงานในเหมืองแร่เพื่อหาเงินประทังชีพที่อยู่ ๆ ได้พบกับ ‘ชีต้า’ หญิงสาวที่ครอบครองศิลาลอยฟ้าที่ถูกโจรสลัดและรัฐบาลตามล่า เธอคนนี้จะทำให้ชีวิตของเด็กกำพร้าที่ต้องดิ้นรนในสังคมอันแสนโหดร้ายต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล 

 

KIKI’S DELIVERY SERVICE (1989)

แม่มดน้อยกิกิ

“เราล้วนตามหาแรงบันดาลใจ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถหามันจนเจอ”

แม่มดน้อยกิกิ แอนิเมชันลำดับที่ 3 ของสตูดิโอจิบลิ อีกหนึ่งผลงานการกำกับของอาจารย์ฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) เล่าเรื่องราวการเติบโตของ ‘กิกิ’ แม่มดฝึกหัดวัย 13 ปี ที่ต้องเตรียมตัวออกเดินทางไปใช้ชีวิตต่างเมืองเป็นเวลา 1 ปี ตามธรรมเนียมโบราณของผู้ใช้เวทมนตร์

การเดินทางไปยังเมืองที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนก็ว่ายากแล้ว จะให้ไปใช้ชีวิตอยู่ในที่ที่ไม่รู้จักใครและไม่มีใครรู้จักเราก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ยากกว่า แต่วิถีแห่งการเป็นแม่มดที่สมบูรณ์แบบไม่ได้ได้มาง่าย ๆ จึงทำให้เธอต้องสั่งสมประสบการณ์เพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จ 

 

OCEAN WAVES (1993) 

สองหัวใจรักหนึ่งเดียว

“ชั่วพริบตาเดียวเราสามารถรู้สึกสุข เหงา เศร้า พร้อมกันได้”

บางสถานที่ที่แสนธรรมดาอย่างห้องเรียน ร้านอาหาร และสถานีรถไฟ อาจอัดแน่นไปด้วยความรู้สึกและความทรงจำที่แสนมีค่าสำหรับใครสักคน รวมถึง ‘คาคุ’ ที่มองไปยังหญิงสาวคนหนึ่งที่ยืนรอรถไฟแล้วพาลให้นึกถึงเรื่องราวรักสามเส้าที่มาพร้อมกับมิตรภาพของกลุ่มเพื่อน 

สองหัวใจรักหนึ่งเดียวคือแอนิเมชันที่ไม่จัดจ้านหรือมีเรื่องราวหวาดเสียวเหมือนนั่งรถไฟเหาะ แต่กลับอัดแน่นด้วยความจริงของชีวิตคนธรรมดาคนหนึ่งที่ต้องพบเจอกับความรู้สึกรัก ผิดหวัง และความเศร้า เล่าเรื่องที่ชวนให้สงสัยว่าตอนจบมันจะสิ้นสุดลงด้วยความสุขหรือเศร้า เคล้ากับบรรยากาศของญี่ปุ่นช่วง 1990 ที่พาให้ความรู้สึกของคนดูหว่องไปกับภาพจำยุคเก่าได้อย่างไม่ยากเย็น 

 

ONLY YESTERDAY (1991) 

ในความทรงจำที่ไม่มีวันจาง

“บางครั้งการทำงานอาจทำให้เราหลงลืมความสุขและความสัมพันธ์”

เมื่อโตขึ้นเราก็เผลอลืมความสนุกกในวัยเรียนที่ทำตัวบ้า ๆ บอ ๆ กับกลุ่มเพื่อน ลืมความรู้สึกดีที่อยู่ในอ้อมกอดของพ่อแม่ และแอนิเมชันเรื่องนี้จะทำให้เรารู้สึกถึงความอบอุ่นที่จางหายไปจากการทำงานอีกครั้ง 

ในความทรงจำที่ไม่มีวันจาง คือภาพยนตร์แอนิเมชันลำดับที่ 5 ของสตูดิโอจิบลิ เล่าเรื่องโรแมนติกดราม่าที่สมจริงไม่ต่างกับหนังคนแสดง เมื่อ ‘ทาเอโกะ’ ที่ทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนในออฟฟิศกลางกรุงรู้สึกเบื่อหน่ายกับชีวิตซ้ำซากในกรุงโตเกียว เธอตัดสินใจลาพักร้อนไปอยู่สวนในจังหวัดยามะงาตะ และการพักผ่อนเพื่อหนีห่างความเหนื่อยล้าจากชีวิตที่ต้องทำงานอย่างต่อเนื่องก็ทำให้เธอนึกถึงความสัมพันธ์ที่หลงลืมไป

 

TALES FROM EARTHSEA (2006)

ศึกเทพมังกรพิภพสมุทร

สั่งสมชื่อเสียมามากพอดูสำหรับแอนิเมชันเรื่องศึกเทพมังกรพิภพสมุทร ผลงานการกำกับของโกโระ มิยาซากิ (Goro Miyazaki) ลูกชายของยอดผู้กำกับฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) ที่ยังต้องเก็บประสบการณ์การทำหนังแอนิเมชันเพิ่มอีกสักนิด เพราะผลงานเรื่องนี้ของเขาคว้ารางวัล Grand Prize จากเวทีราซซี่เวอร์ชันญี่ปุ่นที่แจกให้กับภาพยนตร์ที่คนลงความเห็นว่ายอดแย่ที่สุดของปี กับการเล่าเรื่องราวของดินแดนโลกทะเลที่ไร้อาหารและการปรากฏตัวของมังกรลึกลับ 2 ตัว

แต่จะให้เราตัดสินว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ดีหรือแย่โดยที่ยังไม่เปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้สัมผัสด้วยตัวเองก็ถือว่าไม่ยุติธรรม ดังนั้นเราจึงอยากให้ใครที่ยังไม่เคยดูหนังเรื่องนี้ได้สัมผัสและตัดสินด้วยตาของตัวเอง เพราะแอนิเมชันเรื่องนี้ถึงจะมีคนบ่นเยอะแต่ก็กวาดรายได้ไปถึง 900 ล้านเยน ขึ้นอันดับ 1 บ็อกซ์ออฟฟิศญี่ปุ่นตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ฉาย ไม่น่าว่าหนังที่คนลงความเห็นว่าแย่อาจจะมีบางมุมที่น่าสนใจซ่อนอยู่ก็เป็นได้ 

 

1 MARCH 2020

 

SPIRITED AWAY (2001)

มิติวิญญาณมหัศจรรย์

“คุณไม่สามารถลืมใครก็ตามที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้หรอก”

มิติวิญญาณมหัศจรรย์ถือเป็นแอนิเมชันดาวเด่นของสตูดิโอจิบลิเลยก็ว่าได้ ใครจะคิดว่าชีวิตของ ‘จิฮิโระ’ เด็กผู้หญิง 10 ขวบ จะเข้าไปอยู่ในหัวใจของชายหนุ่มจำนวนมากได้ง่าย ๆ เรื่องราวของเด็กสาวที่พลัดหลงเข้าไปอยู่ในอีกมิติโดยไม่ได้ตั้งใจและเป็นต้นเหตุที่ทำให้พ่อกับแม่ถูกสาปเป็นหมู และพบว่าโลกใบใหม่เต็มไปด้วยภูตผีกับเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้ แถมยังมีผีไร้หน้าที่คอยตามติดเธอจนสลัดไม่หลุด 

เนื้อเรื่องที่เหนือจินตนาการ เอกลักษณ์ของตัวละคร การเล่าเรื่องอันยอดเยี่ยมของผู้กำกับฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) โทนภาพแสนสบายตา และดนตรีประกอบที่ไพเราะ ทั้งหมดส่งให้มิติวิญญาณมหัศจรรย์สามารถคว้ารางวัลแอนิเมชันยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์มาครองได้

ใครที่เคยดูแล้วเราก็อยากให้ดูอีก แต่ถ้าใครที่ยังไม่เคยดู ตอนนี้ถือเป็นโอกาสดีมาก ๆ ที่เราจะได้สัมผัสกับแอนิเมชันสายรางวัลที่ครองใจผู้คนทั่วโลกโดยที่กำแพงภาษาไม่สามารถปิดกั้นเรื่องราวอันน่าประทับใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ 

 

MY NEIGHBORS THE YAMADAS (1999)

ยามาดะ ครอบครัวนี้ไม่ธรรมดา

ยามาดะ ครอบครัวนี้ไม่ธรรมดา ภาพยนตร์แอนิเมชันที่สร้างขึ้นจากการ์ตูนแก๊กสั้น 4 ช่อง ที่ลงเป็นประจำในหนังสือพิมพ์ของ ฮิซาอิจิ อิชิอิ (Hisaichi Ishii) บอกเล่าเรื่องราวของครอบครัวใหญ่ที่เปรียบเสมือนตัวแทนของครอบครัวชาวญี่ปุ่นยุค 90 มีทั้งเสียงหัวเราะ ความเครียด และเรื่องวุ่น ๆ ชวนให้อมยิ้ม เพราะเรื่องราวความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวสามารถทำให้ผู้ชมคล้อยตามและเข้าใจมุกตลกได้อย่างไม่ยากเย็น 

 

THE CAT RETURNS (2002)

เจ้าแมวยอดนักสืบ

“หากเรามีความมั่นใจ ก็ไม่มีอะไรที่ต้องเกรงกลัว”

เจ้าแมวยอดนักสืบ แอนิเมชันที่ดัดแปลงมาจากมังงะเรื่อง Baron: The Cat Returns ของอาโออิ ฮิอิรางิ (Aoi Hiiragi) เผยการผจญภัยของเด็กมัธยมปลายนามว่า ‘ฮารุ’ สาวขี้อายที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เมื่อวันหนึ่งเธอได้ช่วยชีวิตแมวให้รอดจากการโดนรถชน โดยที่ไม่รู้ว่าแมวตัวนั้นเป็นเจ้าชายแห่งอาณาจักรแมว 

หลังจากที่เธอช่วยชีวิตแมวก็มีเรื่องแปลก ๆ เกิดขึ้นในเมือง ปกติแมวจะเดินสี่ขากลับกลายเป็นว่าพวกมันออกมายืนสองขาเรียงแถวเป็นขบวนเดินไปทั่วเมืองตอนกลางคืนและได้พบกับอาณาจักรที่มีแต่แมว แม้ภาพและเส้นเรื่องจะน่ารักจนผู้ชายหลายคนเลือกมองข้ามแอนิเมชันเรื่องนี้ แต่เนื้อหาแท้จริงที่ซ่อนเอาไว้คือการย้ำเตือนกับผู้ชมทุกคนให้มีความมั่นใจในตัวเอง 

 

PRINCESS MONONOKE (1997)

เจ้าหญิงวิญญาณแห่งพงไพร

การเข้ามาของโลกอุตสาหกรรมสร้างความเป็นเปลี่ยนอะไรบ้างกับผู้คนยุคก่อน ? บางคนอาจมองว่าการเข้ามาของอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีจะสร้างความสะดวกสบายให้กับมนุษย์ แต่ก็มีหลายคนที่มองว่าอุตสาหกรรมจะเข้ามาทำลายธรรมชาติและระบบนิเวศ และแอนิเมชันเรื่องเจ้าหญิงวิญญาณแห่งพงไพรจะพาเราไปหาคำตอบว่าตรงกลางของธรรมชาติและโลกยุคใหม่มันมีจริงหรือไม่

แอนิเมชันที่มีพื้นหลังเป็นญี่ปุ่นโบราณยุคมุโรมาจิจะพาเราตัดขาดจากโลกภายนอก ย้อนกลับไปยังสมัยก่อนที่เต็มไปด้วยผืนป่าที่ชวนให้ผู้ชมตระหนักถึงความสำคัญของการมีชีวิต ความเห็นอกเห็นใจ และความงดงามของธรรมชาติที่เราเผลอมองข้ามไป 

 

THE TALE OF PRINCESS KAGUYA (2013)

เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่

“แม่เคยบอกว่าผมเกิดจากกระบอกไม้ไผ่” ประโยคข้างต้นคือประโยคคลาสสิกที่พ่อแม่หลายบ้านใช้แกล้งลูกในวัยเด็ก เป็นเรื่องเล่าที่ชวนสงสัยว่าคนเราจะเกิดมาจากกระบอกไม้ไผ่ได้จริงหรือ และตำนานการเกิดจากต้นไม้ก็ไม่ได้มีแค่ในไทย แต่ญี่ปุ่นก็มีเหมือนกันกับแอนิเมชันเรื่อง เจ้าหญิงกระบอกไม้ไผ่

เมื่อตายายที่มีอาชีพตัดไผ่ขายพบกับปล้องไม้ไผ่เรืองแสงจึงลองผ่าดูว่าข้างในมีอะไร พวกเขาพบว่ามีเด็กทารกขนาดเท่าหัวแม่มือนอนหลับสบายอยู่ในต้นไผ่ พวกเขาตัดสินใจนำเด็กสาวตัวจิ๋วกลับไปเลี้ยงดู แถมเมื่อสองตายายกลับไปตัดไผ่ในป่าก็มักจะพบทองก้อนเล็ก ๆ อยู่เสมอ และเด็กสาวที่พวกเขาเจอจะพาเรื่องราวที่ไม่คาดคิดเข้ามาสู่ชีวิตของพวกเขา 

 

THE SECRET WORLD OF ARRIETTY (2010)

อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋ว

คนตัวจิ๋วถูกเล่าอยู่บ่อยครั้งในมังงะของญี่ปุ่นรวมถึงวรรณกรรมเยาวชนจากฝั่งโลกตะวันตก และมักจะเล่าตรงกันว่าพวกคนตัวเล็กมักหยิบสิ่งของของมนุษย์ไปใช้แล้วไม่คืน เป็นหัวขโมยที่มีความเร็วดั่งพายุ และซ่อนตัวให้พ้นจากสายตาของคนตัวใหญ่อย่างเรา ๆ ซึ่งแอนิเมชันเรื่องอาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋วก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจไม่แพ้กับหนังคนตัวจิ๋วเรื่องไหน ๆ 

อาริเอตี้ มหัศจรรย์ความลับคนตัวจิ๋วดัดแปลงมาจากวรรณกรรมแฟนตาซี The Borrower ของ Mary Norton จากปี 1952 เล่าเรื่องราวลึกลับผ่านเด็กชายนามว่า ‘โช’ ที่ต้องพบเจอกับเรื่องแย่ ๆ ตลอดเวลา ทั้งพ่อแม่ที่ตัดสินใจแยกทางกัน ส่วนตัวเองก็เป็นโรคร้ายเจ็บออด ๆ แอด ๆ ต้องผ่าตัดใหญ่ และย้ายมาอยู่กับยายที่ชนบทพร้อมกับพบว่าบ้านของเขาไม่ได้มีแค่คนปกติแต่กลับมีคนจิ๋วอาศัยอยู่ในบ้านด้วยเช่นกัน ซึ่งการพบกับคนตัวเล็กจะทำให้เขาได้ตระหนักว่า ‘แท้จริงแล้วเราสามารถแบ่งปันบางสิ่งให้กับคนอื่นโดยไม่หวังผลตอบแทนได้หรือไม่ ?’

 

NAUSICAA OF THE VALLEY OF THE WIND (1984)

มหาสงครามหุบเขาแห่งสายลม

หนึ่งพันปีหลังมหาสงครามที่ทำลายอารยธรรมของมนุษย์และระบบนิเวศจนป่นปี้ ผลของสงครามใหญ่ก่อให้เกิดทะเลเน่า ป่าเชื้อราที่เต็มไปด้วยพิษ และสัตว์กลายพันธุ์ ผู้คนต่างกระจัดกระจายกันไปตั้งถิ่นฐานในที่ที่ปลอดภัย

‘นาอุซิกา’ เจ้าหญิงในอาณาจักรที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาแห่งสายลมพยายามหาสาเหตุของสงครามใหญ่และหวังว่าในอนาคตผู้คนที่กระจัดกระจายจะสามารถกลับมาอยู่ร่วมกันได้อีกครั้ง แต่กลายเป็นว่าความคิดของเจ้าหญิงถูกคัดค้านจากคนบางกลุ่ม เพราะมีคนที่พอใจจะซ่อนตัวและใช้ชีวิตสงบสุขอย่างโดดเดี่ยว เกิดสงครามที่ทำให้ผู้คนล้มตายอีกครั้ง แล้วการประนีประนอมที่เป็นหัวใจสำคัญที่เจ้าหญิงต้องการมาตลอดสามารถเกิดขึ้นจริงได้หรือไม่ ?

 

1 APRIL 2020 

 

PONYO ON THE CLIFF BY THE SEA (2008)

โปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย

ตำนานแห่งท้องทะเลคือความคลาสสิกที่เล่าอย่างไรก็ไม่มีเบื่อ บางครั้งเราก็เห็นเรื่องราวจากมหาสมุทรผ่านหนังซูเปอร์ฮีโร่โคตรเท่ บางครั้งก็เห็นผ่านโจรสลัดที่ท้าทายตำนานลึกลับที่หลับใหลอยู่ก้นสมุทร และสตูดิโอจิบลิก็เลือกที่จะเล่าเรื่องราวแห่งท้องทะเลในสไตล์ของตัวเองจนได้ออกมาเป็นแอนิเมชันเรื่อง โปเนียว ธิดาสมุทรผจญภัย ผลงานแรกของค่ายที่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ไทยในปี 2008 

การเดินทางสู่โลกใบใหม่ของเจ้าหญิง ‘โปเนียว’ ลูกครึ่งปลาและมนุษย์ที่เกิดจากฟองอากาศในทะเลที่ตัดสินใจหนีออกจากบ้าน การผจญภัยของเธอเผยให้เห็นชีวิตและความเชื่อของชาวญี่ปุ่นที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ริมทะเลช่วงปี 1956 ซ่อนมุมมองของความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว จิตสำนึกของผู้คนที่มีต่อชุมชน และเรื่องราวของคนกับธรรมชาติที่ผูกพันกันจนตัดไม่ขาด พร้อมกลับลายเส้นอันเป็นเอกลักษณ์และความน่ารักของเจ้าหญิงโปเนียวที่ทำให้ผู้ชายแมน ๆ หลายคนที่ดูเรื่องนี้เผลออมยิ้มเพราะความไร้เดียงสาของเธอ

 

FROM UP ON POPPY HILL (2011)

ป๊อปปี้ ฮิลล์ ร่ำร้องขอปาฏิหาริย์

“จะไม่มีอนาคตที่สวยงาม หากผู้คนเอาแต่มุ่งไปข้างหน้าโดยไม่หันกลับมามองอดีต”

สงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้กับคนรุ่นหลังที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามเลยแม้แต่น้อย แอนิเมชันเรื่องป๊อปปี้ ฮิลล์จะเล่าเรื่องราวชีวิตของคนรุ่นใหม่หลังสงครามโลกในเมืองโยโกฮาม่า ปี 1963 ผลของสงครามสร้างความเจ็บปวด ทำให้เศรษฐกิจของประเทศล้มระเนระนาดแต่ทุกคนก็ต้องก้าวต่อไปอย่างมีความหวัง

เส้นเรื่องของแอนิเมชันจะแบ่งเป็นสองทาง หนึ่งคือมุมมองของ ‘ยูมิ’ เด็กสาววัย 16 ที่ถูกใจเจ็บกับคำสัญญาของพ่อที่บอกว่าจะกลับมาหลังจากออกเรือไปรบที่ประเทศเกาหลี จนสงครามจบลงไปแล้วหลายปีพ่อของเธอก็ยังไม่กลับมา และอีกมุมมองหนึ่งเล่าผ่าน ‘ชุน’ เด็กหนุ่มที่ประท้วงการทุบตึกเก่าที่เต้มไปด้วยรากเหง้าของอารยธรรมญี่ปุ่นที่รัฐบาลสั่งให้ทุบทิ้งเพื่อสร้างใหม่เตรียมรับกับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกปี 1964 ผู้ชมจะได้เห็นมุมมองความรักของเด็กวัยรุ่น ความเจ็บปวดที่สงครามเหลือทิ้งไว้ และบรรยากาศอันงดงามของญี่ปุ่นยุค 60 

 

THE WIND RISES (2013)

ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก

“แรงบันดาลใจคือหนทางสู่อนาคต”

ปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก คือแอนิเมชันอิงประวัติศาสตร์ที่เป็นผลงานการกำกับเรื่องสุดท้ายของฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) ที่ดัดแปลงมาจากอัตชีวประวัติของ จิโร่ โฮริโกชิ (Jiro Horikoshi) วิศวกรผู้ออกแบบเครื่องบินให้กับบริษัทมิตซูบิชิ จนทำให้กองทัพอากาศของญี่ปุ่นทัดเทียมกับชาติตะวันตกด้วยเครื่องบินรบประจำชาติรุ่น A6M Zero Fighter ตอนที่ออกแบบจิโร่มุ่งหวังเพียงแค่อยากให้ญี่ปุ่นมีเครื่องบินที่ทันสมัย โดยทันได้คิดว่ากองทัพญี่ปุ่นจะนำผลงานที่เขาออกแบบบินไปทิ้งระเบิดทั่วทวีปเอเชีย 

แอนิเมชันเรื่องนี้ได้รับเสียงวิจารณ์ที่ร้อนแรง มีผู้ชมชาวญี่ปุ่นที่ดูแล้วมองว่าผลงานของฮายาโอะถือเป็นการทรยศชาติเพราะมีเนื้อหาที่ทำให้ญี่ปุ่นดูแย่ในสายตาชาวโลก แต่ก็มีคนญี่ปุ่นบางส่วนที่ออกมาโต้ตอบว่าฮายาโอะไม่ได้ทำอะไรผิด เขาเพียงแค่เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ และย้ำเตือนคนญี่ปุ่นว่าจะต้องไม่ลืมว่าชาติของเราโหดร้ายกับแรงงานทาสที่ถูกเกณฑ์มาสร้างเครื่องบินรบนับหมื่นลำมากขนาดไหน

อย่างไรก็ตามเสียงวิจารณ์ของชาวต่างชาติที่มีให้กับปีกแห่งฝัน วันแห่งรัก กลับเป็นไปในเชิงบวก แอนิเมชันเรื่องนี้สามารถเข้าชิงรางวัลออสการ์ของอเมริกาได้ และเล่าแบบจริงใจว่าไอเดียที่จิโร่ได้มาสร้างเครื่องบินรบก็ได้มาจากอิตาลีและเยอมรนีประเทศที่ยืนอยู่กับฝ่ายเดียวกับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลก และถือเป็นแอนิเมชันที่สามารถทำให้ผู้คนทั่วโลกกระหายที่จะรู้ประวัติศาสตร์มากยิ่งขึ้น 

 

WHEN MARNIE WAS THERE (2014)

ฝันของฉันต้องมีเธอ

ฝันของฉันต้องมีเธอเป็นแอนิเมชันที่รับแรงบันดาลใจจากวรรณกรรมเยาวชน When Marnie Was There ของ Joan G. Robinson ตีพิมพ์ในปี 1967 บอกเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของ อันนา เด็กสาวที่ไม่ค่อยสุงสิงกับใครและเป็นโรคหอบหืด กับ มาร์นี เด็กสาวที่มีผมบลอนด์ผิดแปลกจากคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในปราสาท Marsh House ได้ลึกซึ้งชวนน้ำตาซึม และยังมีปริศนาน่าสงสัยมากมายชวนให้คิดว่ามาร์นีเป็นใคร และคนที่เจอเรื่องเศร้าจนเก็บตัวจะสามารถเปิดใจให้กับคนแปลกหน้าได้หรือไม่ 

 

WHISPER OF THE HEART (1995)

วันนั้น… วันไหน หัวใจจะเป็นสีชมพู

ความรู้สึกที่เหมือนกับว่ามีผีเสื้อบินอยู่ในท้องถือเป็นความรู้สึกที่วัยรุ่นส่วนใหญ่ได้เจอ โดยเฉพาะกับวัยมัธยมต้นรวมถึง ‘ชิซูกุ สึกิชิมะ’ เด็กสาววัย 14 ปี ที่หลงรักการอ่านและชอบไปยืมหนังสือห้องสมุด เธอพบว่าหนังสือแทบทุกเล่มที่เธอยืมมักมีชื่อของ ‘เซอิจิ อามาซาวะ’ ยืมไว้อยู่ก่อนแล้ว และไม่รู้ว่าเป็นโชคชะตาหรือพรมลิขิตที่ทำให้เธอได้รู้จักกับเด็กหนุ่มคนนี้ 

 

HOWL’S MOVING CASTLE (2004)

ปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์

“เสียงที่ควรฟังและไว้ใจมันมากที่สุดคือเสียงของหัวใจตัวเอง”

สงครามคือสิ่งที่ไม่น่าภิรมย์แต่สุดท้ายมันก็แวะเวียนมาหาผู้คนอยู่บ่อย ๆ เรื่องราวของแอนิเมชันเรื่องปราสาทเวทมนตร์ของฮาวล์เล่าถึงยุคสมัยที่มีแต่ความขัดแย้ง เด็กสาวนามว่า ‘โซฟี’ ต้องรับช่วงต่อกิจการร้านหมวกจากพ่อและได้จับพลัดจับผลูรู้จักกับ ‘ฮาวล์’ พ่อมดที่ช่วยเธอกับน้องสาวที่ถูกทหารชั่วลวนลาม 

ความสัมพันธ์ของโซฟีกับฮาวล์ดำเนินไปได้ด้วยดีจนโซฟีถูกแม่มดแห่งทุ่งร้างสาปให้เด็กสาวอายุ 18 กลายเป็นหญิงชราวัย 90 ปี ทำให้เธอต้องออกจากบ้านเพื่อหาวิธีแก้คำสาปนี้ เรื่องราวการผจญภัยของเด็กสาวในร่างคนแก่ที่มีฉากหลังเป็นสงครามดุเดือดได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์แอนิเมชันยอดเยี่ยมครั้งที่ 78 และได้รับเสียงชื่นชมล้นหลามจากผู้ชมฝั่งตะวันตก 

 

POM POKO (1994)

ปอมโปโกะ ทานุกิป่วนโลก 

ประเทศญี่ปุ่นช่วงทศวรรษที่ 1960 – 1969 เศรษฐกิจของประเทศกำลังพุ่งทะยานถึงขีดสุดท่ามกลางความอึ้งของคนทั่วโลก ไม่มีใครคาดคิดว่าประเทศที่พ่ายแพ้ยับเยินจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จะสามารถลุกขึ้นมายืนอย่างเข้มแข็งด้วยขาของตัวในเวลาไม่กี่สิบปี

การเติบโตทางเศรษฐกิจส่งผลให้ระบบอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเริ่มเติบโตกินพื้นที่ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงไม่ได้มีแค่มนุษย์แต่ทานูกิบนเนินเขาทามะแถบชานเมืองโตเกียวก็ต้องเตรียมตัวรับกับสิ่งใหม่นี้ด้วย เมื่อผู้คนรุกคืบเข้าผืนป่า เหล่าทานูกิต้องลงมติหารือว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขี้น และถ้ามองดี ๆ เจ้าทานูกิพวกนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับมนุษย์ที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด 

 

แอนิเมชันทั้ง 21 เรื่องที่ Netflix ไปเจรจาซื้อลิขสิทธิ์มาให้เราได้ดูกันจะมีให้เลือกรับชมทั้งระบบเสียงภาษาญี่ปุ่น คำบรรยายไทย และพากษ์ไทย คำบรรยายไทย ใครสะดวกแบบไหนก็สามารถกดเลือกระบบเสียงที่ชอบกันได้ตามใจอยาก

 

UNLOCKMEN ได้รวบรวมเรื่องราวของวงการภาพยนตร์ญี่ปุ่นอื่นที่น่าสนใจเอาไว้ให้แล้ว:

NIHON STORIES: เมื่อมังงะ GOKUSHUFUDO วิถียอดพ่อบ้านยากูซ่ากลับใจ จะมีชีวิตด้วยไลฟ์แอกชัน

NIHON STORIES: 5 หนังญี่ปุ่นโคตรเท่ที่ไม่ควรพลาดจากงาน LAPANESE FILM FESTIVAL 2020

NIHON STORIES: KUROSAWA AKIRA ผู้กำกับหนังซามูไรที่กลายเป็นตำนานจำไม่ลืมของวงการหนัง

NIHON STORIES: ว่าด้วยศาสนาและเสรีภาพกับ SAINT YOUNG MEN เมื่อสองศาสดาของลาพักร้อน

NIHON STORIES: จากนิยายกลายเป็นหนัง เมื่อพิษสุรา สาวงาม และจิตใจหลอมรวมเขาให้สูญสิ้นความเป็นคน

NIHON STORIES: ONE PIECE THE MOVIE การเติบโตด้วยก้าวเดินที่มั่นคงของแอนิเมชันโจรสลัด

 

 

SOURCE

TOIISAN
WRITER: TOIISAN
Share on Facebook Share on Twitter Share on Line