มันต้องมีสักเสี้ยววินาทีที่ผู้ชายอย่างเราคิดจะกินคลีน กินเพื่อสุขภาพ กินปราศจากโซเดียม ฯลฯ แต่เมื่อเราริลองจะใช้ชีวิตกับอาหารคลีนเพื่อสุขภาพ เราจะสัมผัสได้เลยว่าราคามันสูงลิ่วเกินกว่าที่เราจะกินคลีนวันละสามมื้อได้ไหว อาทิตย์ละสองสามครั้งอาจพอทน แต่ถ้าต้องกินทุกมื้อ เราก็จำใจต้องกลับไปซบอกร้านป้าอาหารตามสั่งที่หนักผงชูรส หนักน้ำปลา คุณค่าทางอาหารอาจสู้ไม่ได้ แต่ราคาสบายกระเป๋ามากกว่า ปัญหาเงินในกระเป๋ามีมากไม่พอจ่ายราคาอาหารที่ถูกสุขลักษณะอนามัยจึงเกิดขึ้น และไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่บ้านเราเท่านั้นในอังกฤษก็มีปัญหานี้เช่นกัน รัฐบาลอังกฤษเขาก็ห่วงใยประชาชนของตัวเองจึงมีคำแนะนำอย่างเป็นทางการว่าอาหารที่ดีต่อสุขภาพและมีโภชนาการเหมาะสมคือการรับประทานผักและผลไม้วันละ 5 จาน และรับประทานปลาที่มาจากแหล่งน้ำ (ที่สะอาดและยั่งยืน) ทุกสัปดาห์ แต่ผลปรากฏว่ามีเด็กราว ๆ 3.7 ล้านคนที่ไม่สามารถกินอาหารที่ถูกโภชนาการตามหลักอาหารที่ดีนั้นได้ “เพราะคนจนไม่มีความรู้มากพอไง เลยกินแต่อาหารแย่ ๆ ไม่ดีต่อตัวเอง” ในอดีตคำกล่าวหามักมุ่งไปที่การขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการกินอาหารที่ดี แต่จากรายงานของมูลนิธิอาหาร (Food Foundation) แห่งสหราชอาณาจักรพบว่า 20% ของครอบครัวในสหราชอาณาจักรที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,860 ปอนด์ต่อปีจะต้องใช้เงิน 42% ของรายได้หลังจากหักค่าที่อยู่อาศัยเพื่อทำอาหารให้ตอบสนองความต้องการของแนวทาง “Eatwell Guide” ของรัฐบาล ค่าใช้จ่ายในการกินอาหารถูกโภชนาการสำหรับครอบครัวที่มีผู้ใหญ่สองคนและเด็กสองคน (อายุสี่ถึงแปดปี) คิดเป็นมูลค่าประมาณ 112.04 ปอนด์ต่อสัปดาห์ (หรือราว ๆ 46,985 บาทต่อสัปดาห์) จินตนาการไม่ออกจริง ๆ ว่าถ้าต้องจ่ายเงินเยอะขนาดนี้ เพื่อกินอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ จนไม่เหลือเงินไปทำอย่างอื่น
เรานั่งสนทนากันในวันที่แสงแดดดี ไม่มีกลิ่นอายความเศร้า แต่เอ่ยถึง “ความตาย” กันเหมือนเรื่องปกติสามัญเรื่องหนึ่งไม่ต่างจากเรื่องเล่าข่าวเช้า หรือเรื่องเล่าพูดคุยธรรมดาช่วงบ่าย พี่ที่คุ้นเคยกันคนหน่ึงกล่าวว่าช่วง 25-35 คือวัยที่เราทยอยไปงานแต่งอย่างบ้าคลั่ง แต่หลังจาก 40 เป็นต้นไป งานศพจะเป็นงานที่เราไปบ่อยที่สุด คนที่เรารักจะทยอยจากไปไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม การพบ พราก จาก ลา และแสดงความอาลัยต่อสิ่งที่จากคือธรรมดาของโลก สิ่งที่น่าสนใจคือในทุกงานศพมักมีวัฒนธรรมการแสดงความอาลัยต่อเจ้าของงานอย่างการมอบพวงหรีดดอกไม้ที่เรารู้สึกเคยชินกับการให้ แต่ไม่เคยมองว่าปลายทางของมันจะจบลงอย่างไร จนกระทั่งได้พบกับรูปแบบหรีดใหม่อย่าง “หรีดหนังสือ” ที่ช่วยกระตุกต่อมคิด เราจึงพบว่าแท้จริงแล้วความเศร้ามันสามารถส่งต่ออะไรให้กับคนอื่นได้มากมาย ทั้งผู้วายชนม์ คนที่ยังอยู่ และสังคม แถมหรีดนี้ยังได้รับการดีไซน์ออกมาสไตล์มินิมัลสมเกียรติ เหมาะแก่การส่งต่ออีกด้วย เพื่อติดตามเบื้องหลังความคิดสร้างสรรค์นี้ UNLOCKMEN จึงมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้คิดโครงการและผู้เกี่ยวข้องกับหรีดหนังสือเหล่านี้ ดอกไม้สด ลูปความเศร้าที่จบไม่สวย ถ้าพูดถึงหรีดงานศพ “ดอกไม้สด” จะเป็นสิ่งแรกที่เราคิดถึง ธรรมดาแล้วเรามักจะคิดว่าเป็นวัสดุธรรมชาติเดี๋ยวก็คงย่อยได้ แต่จากสถิติปลายปีที่แล้วเฉพาะเทศกาลลอยกระทงบริเวณลุ่มน้ำปิงพบว่ามีขยะกระทงจำนวนถึง 120 ตันภายในวันเดียว แล้วสำหรับงานศพที่เกิดขึ้นทุกวัน เฉลี่ยทั่วประเทศวันละ 1,200 งาน คงไม่ต้องบอกว่าเราจะพบกองหรีดเป็นพะเนินขนาดไหน บวกการสร้างคาร์บอนฟุตปริ้นท์ปริมาณสูงถึง 359 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ ยังไม่นับรวมฟอร์มาลีนที่นำมาฉีดเพื่อคงความสดให้พวกเราต้องสูดเข้าไปซึ่งจะสร้างอันตรายอีกมากมาย ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้คุณสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ริเริ่มดำเนินการโครงการอย่างจริงจัง